วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555


คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย
คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย เป็นคณะสงฆ์นิกายมหายาน ถือกำเนิดมาจากชาวจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารบนผืนแผ่นดินไทย ได้นำเอาวัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อดั้งเดิมของตนเข้ามาประพฤติปฏิบัติ แรกเริ่มที่ยังไม่มีพระภิกษุ ชาวจีนได้สร้างศาลเจ้าขึ้นก่อนเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรม ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระภิกษุจีนแถบมณฑลกวางตุ้งจาริกเข้ามาปฏิบัติศาสนกิจมากขึ้น นำไปสู่การจัดระเบียบการบริหารการปกครอง คณะสงฆ์จีนได้ถือกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินไทยและมีความเจริญสืบเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน
ประวัติ
นับจากราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมา ชนชาติไทยและจีนได้มีการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้า จนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 อาณาจักรสุโขทัยได้ก่อตั้งขึ้น ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศก็เพิ่มพูนขึ้น ชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้ง และฮกเกี้ยน ได้ทะยอยมาทำมาหากินในไทย แม้จนกษัตริย์แห่งสุโขทัยได้ไปนำเทคนิคการทำกระเบื้องเคลือบ (สังคโลก) มาสู่ประเทศไทย
ถึงสมัยอยุธยา ชาวจีนในไทยมีมากขึ้น จนเกิดเป็นย่านชาวจีนขึ้น และมีชาวจีนเข้ารับราชการในราชสำนักไทย จนอยุธยาเสียแก่ข้าศึก พระยากำแพงเพชร (ตากสิน) ผู้มีบิดาเป็นชาวจีนได้นำทหารไทย-จีน ฝ่าวงล้อมข้าศึกและกอบกู้เอกราชไทยได้สำเร็จ โดยตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรี ในระหว่างสมัยทั้งสามที่ผ่านมา ชาวจีนส่วนใหญ่ นับถือศาสนาพุทธ ลัทธิขงจื้อ และลัทธิเต๋า ปะปนกัน คงมีเพียงศาลเจ้าแบบจีน ยังไม่มีการสร้างวัดขึ้น ชาวจีนคงอาศัยทำบุญในวัดไทยนั่นเอง
สมัยกรุงธนบุรี ประเทศเวียดนามเกิดกบฏ ชาวเวียดนามอพยพมาไทย จำนวนมาก ชาวจีนและญวน ในครั้งนี้ได้ร่วมกันสร้างวัดให้พระสงฆ์อนัมนิกายจำพรรษาขึ้นหลายแห่ง จนมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สถาปนาเมื่อปี 2325 ในรัชกาลที่1 ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชาเศรษฐี และพวกจีน โดยโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายพวกจีนไปอยู่ที่บริเวณ วัดสัมพันธวงศ์ (ปัจจุบันที่เรียกว่าสำเพ็ง) สมัยรัชกาลที่ 3 ทั้งสองประเทศมีการติดต่อกันทางด้านศิลปกรรมเพิ่มขึ้นเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดสร้างพระอาราม และยังโปรดศิลปพระราชนิยมแบบจีน
จวบจนสมัยรัชกาลที่ 5 พระอาจารย์สกเห็ง พระเถระนิกายฌานหรือนิกายเซ็นสาขาหลินฉี (วิปัสสนากรรมฐาน) ชาวจีน จาริกมาจากประเทศจีน ราวก่อนปี พ.ศ. 2414 และพำนักจำพรรษาที่วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ร้าง กวนอิม ชื่อ ย่งฮกอำ มีป้ายชื่อลงปีรัชกาลเฉียนหลง ปีอิกเบ้า (ค.ศ. 1795 ) ตรงกับ พ.ศ. 2338 กล่าวกันว่าสร้างโดยชาวจีนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนสร้างวัดกุศลสมาคร ฝ่ายอนัมนิกาย (วัดญวน) ได้มีพระอนัมมาอาศัยพักอยู่ชั่วคราว เมื่อสร้างวัดเสร็จจึงย้ายไปอยู่วัดญวน
สาธุชนชาวจีนได้เห็นจริยาวัตรท่านน่าเลื่อมใสศรัทธาจึงช่วยท่านปฏิสังขรณ์วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น ย่งฮกยี่ มีป้ายชื่อลงปี พ.ศ. 2430 (รัชกาลกวงสู ปีที่ 13 ค.ศ. 1887 ) แล้วกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามวัดจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระราชทานนามวัดว่า  วัดบำเพ็ญจีนพรต  (ปัจจุบันยังมีป้ายพระราชทานนามวัดประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอุโบสถ) และทรงโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ พระอาจารย์สกเห็งเป็นพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรก
นอกจากนี้ยังมีพระภิกษุไฮซัน ชาวมณฑลหูหนาน จาริกมาพำนัก ในอารามร้าง ต.บ้านหม้อ ต่อมาได้บูรณะเป็นวัดทิพยวารีวิหาร (กำโล่วยี่)
กาลต่อมาเมื่อพระสงฆ์ฝ่ายจีนมีมากขึ้น พระอาจารย์สกเห็งเห็นควรขยายอารามให้พอเหมาะแก่จำนวนพระสงฆ์ จึงได้สร้างวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ขึ้น ปรากฏเป็นอารามฝ่ายจีนนิกายที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในครั้งนั้น รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการบริหาร ปกครอง คณะสงฆ์จีนนิกาย
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้สถาปนา พระอาจารย์สกเห็ง เป็นที่ พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย ดูแลบริหารปกครองพระสงฆ์จีนนิกายในประเทศไทย ทั้งตำแหน่งปลัดซ้าย ปลัดขวา เพื่อช่วยบริหารปกครอง และมีพัดยศพร้อมสมณบริขารประกอบสมณศักดิ์ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น