วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

มหายาน
                 มหายาน (สันสกฤต : महायान, จีน: 大乘; ญี่ปุ่น: 大乗; เวียดนาม: Đại Thừa; เกาหลี :대승) มาจากธาตุศัพท์ภาษาบาลี-สันสกฤต มหา + ยาน แปลว่า พาหนะที่ใหญ่เป็นคำเรียกที่อาศัยการเปรียบเทียบ จากคำว่า หีนยาน ซึ่งแปลว่า พาหนะที่เล็ก ๆ มหายานยังมีความหมายว่า ยานที่สูงสุดตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายาน คำว่ามหายาน ไม่เพียงแต่เป็นยานใหญ่และสูงสุดเท่านั้น หากเป็นยานที่รื้อขนสรรพสัตว์ได้ทุกประเภททุกวัย รวมทั้งสัตว์โลกทุกรูปนาม เพื่อไปสู่พระนิพพาน และยานนี้ยังหมายถึงยานที่จะไปถึงพุทธภูมิ แล้วสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                 คำว่า มหายาน จึงเป็นการเปรียบเทียบหมายถึงการขนสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฏสงสารได้มากกว่าสาวกยาน ในคัมภีร์มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ คุรุนาคารชุน ปราชญ์ฝ่ายมหายาน ได้อธิบายความหมายของมหายานไว้ว่า “พระพุทธธรรมมีเอกรสเดียว คือ รสแห่งวิมุตติ ความรอดพ้นจากปวงทุกข์ แต่ชนิดของรสมี 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเพื่อตัวเอง ชนิดที่สองเพื่อตัวเองและสรรพสัตว์ด้วย” อันหมายความว่า ฝ่ายสาวกยานมุ่งเพียงความหลุดพ้นเป็นอรหันต์สิ้นกิเลสเฉพาะตน ไม่มีปณิธานในการโปรดสรรพสัตว์ให้ถึงความหลุดพ้นด้วย แต่ฝ่ายมหายานย่อมมีอุคมคติตรงกันข้าม กล่าวคือ ย่อมมุ่งพุทธภูมิมีปณิธานจะตรัสรู้เป็นพระพุทธะเพื่อขนสัตว์ให้พ้นทุกข์จนหมดสิ้น อธิบายว่า พุทธศาสนิกชนฝ่ายสาวกยานโดยทั่วไปมุ่งแต่อรหัตภูมิเป็นสำคัญ ฉะนั้น จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สาวกยาน ส่วนพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานย่อมมุ่งพุทธภูมิทั้งนั้น จึงมีอีกชื่อว่า โพธิสัตวยานหรือ พุทธยาน
                ในสัทธรรมปุณฑรีกสูตร ได้อธิบายความหมายของมหายานว่า ถ้าสรรพสัตว์ได้สดับธรรมจากพระผู้มีพระภาค แล้วบังเกิดศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส ได้วิริยะบำเพ็ญบารมีเพื่อสัพพัญญุตญาณอันเป็นธรรมชาติ ญาณอันปราศจากครูอาจารย์ ญาณแห่งพระตถาคต กำลังความกล้าหาญ มีความกรุณาปรารถนาต่อความสุขของสรรพสัตว์ บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์ต่อทวยเทพและมนุษย์ โปรดสรรพนิกรให้พ้นทุกข์ นั่นชื่อว่า มหายาน
                นอกจากนี้ พระนาคารชุนได้กล่าวไว้ในทวาทศนิกายศาสตร์อีกว่า มหายานคือยานอันประเสริฐกว่ายานทั้ง 2 เหตุนั้น จึงชื่อว่า 'มหายาน' พระพุทธเจ้าทั้งหลายอันใหญ่ยิ่ง ทรงอาศัยซึ่งยานนี้ และยานนี้จะสามารถนำเราเข้าถึงพระองค์ได้ เหตุนั้นจึงชื่อว่า 'มหา' อนึ่ง ปวงพระพุทธเจ้าผู้มหาบุรุษได้อาศัยยานนี้ เหตุนั้น จึงชื่อว่า 'มหา' และอีกทั้งสามารถดับทุกข์อันไพศาลของสรรพสัตว์และประกอบประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้ถึงพร้อม เหตุนั้นจึงชื่อว่า 'มหา' อนึ่ง พระโพธิสัตว์ทั้งปวง มีพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ พระเมตไตรยโพธิสัตว์ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ และพระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์ เป็นต้น ปวงมหาบุรุษได้ทรงอาศัย เหตุนั้นจึงชื่อว่า 'มหา' อนึ่ง เมื่ออาศัยยานนี้แล้ว ก็ย่อมเข้าถึงที่สุดแห่งธรรมทั้งปวง เหตุนั้นจึงชื่อว่า 'มหา'”
               นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีข้อความที่ยกย่องมหายานอีกเป็นจำนวนมากในคัมภีร์ของมหายาน เช่นเรียกว่า อนุตรยาน (ยานอันสูงสุด) โพธิสัตวยาน (ยานของพระโพธิสัตว์) พุทธยาน (ยานของพระพุทธเจ้า) เอกยาน (ยานอันเอก) เป็นต้น เพราะฉะนั้นคำว่า ยาน ในพระพุทธศาสนาจึงเป็นดั่งคำเปรียบเปรยของมรรควิถีอันจะนำไปสู่ความหลุดพ้นในรูปแบบที่แตกต่างกันนั่นเอง
              กล่าวโดยสรุป ยานในพระพุทธศาสนาได้แบ่งออกเป็น 3 (ตามมติฝ่ายมหายาน) คือ  
  1. สาวกยาน คือ ยานของพระสาวก ที่มุ่งเพียงอรหัตภูมิ รู้แจ้งในอริยสัจ 4 ด้วยการสดับจากพระพุทธเจ้า
  2. ปัจเจกยาน คือ ยานของพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้แก่ผู้รู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาทด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์ให้บรรลุมรรคผลได้
  3. โพธิสัตวยาน คือ ยานของพระโพธิสัตว์ ซึ่งได้แก่ผู้มีน้ำใจกว้างขวาง ประกอบด้วยมหากรุณาในสรรพสัตว์ ไม่ต้องการอรหัตภูมิ ปัจเจกภูมิ แต่ปรารถนาพุทธภูมิ เพื่อโปรดสัตว์ได้กว้างขวางกว่า 2 ยานแรก และเป็นผู้รู้แจ้งในศูนยตาธรรม
credit by http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น